จริง ๆ การทำ พินัยกรรม มันทำได้ทุกเพศแหละครับ แต่ที่จั่วหัวข้อว่าเป็น “เพศเดียวกัน” เพราะว่า กฎหมายมันไม่คุ้มครองคู่รักเพศเดียวกันไงครับ (ปัดโถ่วว คุณก็รู้ ที่นี่ประเทศไทย) ไม่ใช่แค่นั้นหรอกครับ เหตุผลจริง ๆ ที่แอดเขียนบทความนี้ขึ้นมา เพราะว่า

1. ถ้าเราไม่เขียนพินัยกรรม สุดท้ายทรัพย์สมบัติของเราจะตกสู่ทายาทตามกฎหมาย ซึ่งนั่นไม่รวมถึงแฟนของเราครับ เพราะเราไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกันทางกฎหมายเลย บางคู่นี่ช่วยกันทำมาหากินนะครับ สุดท้ายเราตายไป ทรัพย์สมบัติตกไปเป็นของพ่อแม่ญาติพี่น้อง หรือตกเป็นของแผ่นดินนะ แฟนเราตัวเปล่าเลยนะ

2. ถ้าเราตาย “แฟนเราไม่มีสิทธิ์จัดการศพของเรา” นะครับ เพราะเค้าไม่ใช่คู่สมรสตามกฎหมาย แต่ในพินัยกรรม เราระบุได้ว่า จะให้ใครเป็นผู้จัดการศพของเรา เริ่มเห็นประโยชน์ของพินัยกรรมหรือยังครับ

แอดว่าสำคัญเลยล่ะ สำหรับใครที่มี “คู่ชีวิต” แล้วรู้สึกว่ากฎหมายมันยังไม่ครอบคลุมเจตนารมย์ก่อนตายของเราทั้งหมด แล้วก็ไม่รู้ว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่มันลดสิทธิของเราน้อยลงไปเรื่อย ๆ มันจะออกมาเมื่อไหร่ ดังนั้น พินัยกรรมจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่จำเป็นต้องมีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย และวิธีการทำพินัยกรรมก็ไม่ได้ยากอะไรเลยครับ ทุกอย่างอยู่ในโพสต์ด้านล่างแล้ว

ทำพินัยกรรมด้วยตัวเองก่อนสาย
สานเจตนาสุดท้ายก่อนตาย

ขั้นตอนการ ทำพินัยกรรมด้วยตัวเอง’ ไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด เพียงแค่ผู้ทำ (เจ้ามรดก) มีคุณสมบัติสำคัญ ประการ คือ มีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และไม่ใช่คนที่ศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ

พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ
ทางออกของปัญหาการแบ่งมรดก

การทำพินัยกรรมมีทั้งหมด 5 รูปแบบ ดังนี้

1.) พินัยกรรมแบบธรรมดา (ป.พ.พ. มาตรา 1656)
2.) พินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง (ป.พ.พ. มาตรา 1658)
3.) พินัยกรรมทำเป็นเอกสารลับ (ป.พ.พ. มาตรา 1660)
4.) พินัยกรรมทำด้วยวาจา (ป.พ.พ. มาตรา 1663)
5.) พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ (ป.พ.พ. มาตรา 1657)

โดยพินัยกรรม 4 รูปแบบแรกล้วนต้องทำโดยมีพยานรับรู้และลงลายมือชื่อรับรองอย่างน้อย 2 คน แต่สำหรับ ‘พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ’ นั้น เราสามารถทำเองได้ง่ายๆ สะดวก และรวดเร็วที่สุด ทว่าปลอดภัยและปลอมแปลงได้ยากกว่ารูปแบบอื่น

พินัยกรรมเเบบเขียนเองทั้งฉบับนั้น ผู้เขียนสามารถเขียนเองได้ด้วยลายมือของตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบ โดยห้ามให้ผู้อื่นเขียนแทนไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งก็ตาม และห้ามพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์โดยเด็ดขาด หากมีการเขียนตกหรือเขียนผิดควรเริ่มต้นเขียนใหม่ทั้งฉบับ หรือขีดฆ่าจุดเขียนผิดออก แล้วลงวัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตัวเองกำกับไว้ด้วยเสมอ เพื่อแสดงให้รู้ว่าผู้เขียนเป็นคนแก้ไขจุดผิดพลาดเอง ไม่ใช่การปลอมแปลงโดยผู้อื่น ส่วนการลงชื่อไว้ท้ายพินัยกรรมนั้น ต้องลงชื่อด้วยลายมือตัวเอง ห้ามปั๊มลายนิ้วมือ ใช้ตราประทับ หรือ การทำแกงได (รอยกากบาทหรือรอยขีดเขียนซึ่งบุคคลทำไว้ในทางกฎหมาย) ที่สำคัญการทำพินัยกรรมรูปแบบนี้ไม่จำเป็นต้องมีพยานรับรู้แต่อย่างใด

ตัวอย่างรายละเอียดที่ต้องระบุในการทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ แบบที่ 1

รูปแบบนี้เหมาะกับเจ้ามรดกที่ต้องการยกทรัพย์สินทั้งหมดให้ผู้รับมรดกเพียงคนเดียว โดยรายละเอียดในพินัยกรรมไม่จำเป็นต้องเขียนแจกแจงถึงทรัพย์สินที่ผู้ทำพินัยกรรมครอบครองอยู่

เขียนพินัยกรรม

ตัวอย่างรายละเอียดที่ต้องระบุในการทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ แบบที่ 2

รูปแบบนี้เน้นไปที่การระบุรายชื่อผู้รับมรดกตามเจตนารมณ์ของเจ้ามรดก โดยให้ผู้รับมรดกทั้งหมดไปจัดการแบ่งสรรปันส่วนทรัพย์สินของผู้ทำพินัยกรรมอย่างเท่าเทียมกันเอง

ตัวอย่างรายละเอียดที่ต้องระบุในการทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ แบบที่ 3

รูปแบบนี้เหมาะกับการเขียนพินัยกรรมที่แจกแจงรายละเอียดแบบจำเพาะเจาะจง ว่าเจ้ามรดกต้องการยกทรัพย์สินส่วนใดให้ใครบ้าง เพื่อไม่ให้เป็นข้อถกเถียงภายหลังของญาติพี่น้องว่าใครควรได้รับส่วนใด

ทั้งนี้ เจตนารมณ์ในการแบ่งทรัพย์สินของเจ้ามรดกแต่ละท่านอาจไม่เหมือนกัน หากเลือกเขียนพินัยกรรมในรูปแบบนี้สามารถเพิ่มเติมหรือตัดรายละเอียดการแบ่งทรัพย์สินตามเห็นสมควรได้ ส่วนเงินที่มอบให้กับผู้จัดการงานศพ และชื่อผู้จัดการแบ่งมรดกนั้นจะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้ นอกจากนี้ ยังสามารถระบุได้ด้วยว่า ต้องการให้ผู้รับมอบมรดกเป็นเจ้าของทรัพย์สินส่วนนั้นโดยสมบูรณ์เมื่อใด เช่น เมื่ออายุครบ 20 ปี หรือ เมื่อเปลี่ยนสถานภาพเป็นสมรส

Testament

สิ่งที่ต้องระวังในการทำพินัยกรรม
แบบเขียนเองทั้งฉบับ

สิ่งที่ต้องระมัดระวังในการทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ คือ ‘อย่าลืม! ระบุวันเดือนปีที่ทำพินัยกรรมขึ้น’ เนื่องจากการทำพินัยกรรมรูปแบบนี้ไม่จำเป็นต้องมีพยานอ้างอิง กฎหมายจึงกำหนดให้ใช้รายละเอียดเรื่องช่วงเวลาในทำเอกสารเป็นตัวช่วยพิสูจน์ว่า ณ ช่วงเวลาที่เขียนพินัยกรรม ผู้เขียนคุณสมบัติในการทำพินัยกรรมจริง ทั้งอายุครบ สติสัมปชัญญะดี และมีสภาพร่างกายสมบูรณ์พร้อมแก่การเขียนหนังสือด้วยตัวเองได้ ไม่ใช่การถูกบังคับให้เขียนข้อความขึ้นในขณะที่ไม่สามารถควบคุมร่างกายเองได้ ดังนั้น หากไม่มีการกำหนดวัน เดือน ปี ในการทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ พินัยกรรมฉบับนั้นจึงถืเป็น ‘โมฆะ’ นั่นเอง

อีกข้อควรระวังที่ไม่ควรละเลยคือ ‘การไม่แจ้งให้ผู้อื่นทราบว่าได้ทำพินัยกรรมเอาไว้’ เพราะหากไม่มีใครรับรู้เจตนารมณ์นี้เลยหรือไม่รู้ที่เก็บของพินัยกรรม เอกสารดังกล่าวก็เหมือนความลับที่ตายไปพร้อมกับผู้ถึงแก่กรรม ท้ายที่สุด มรดกทั้งหมดที่เหลือไว้อาจถูกแบ่งสรรปันส่วนกันไปโดยผิดความต้องการที่แท้จริงของเจ้ามรดก โดยการเเจ้งที่เก็บพินัยกรรม หรือแจ้งให้ผู้อื่นรับรู้เรื่องการทำพินัยกรรมนั้น ผู้ทำจะบอกให้อีกฝ่ายรู้ถึงข้อความภายในเอกสาร หรือไม่ก็ได้

ข้อจำกัดและข้อควรระวังในการทำพินัยกรรมเพิ่มเติม

  1. พินัยกรรมเป็นนิติกรรมที่ต้องทำตามแบบที่กำหนดเท่านั้น
  2. ต้องเขียน วัน เดือน ปี ลงลายมือชื่อทั้งผู้ทำพินัยกรรมและผู้ที่เป็นพยาน
  3. ผู้ที่เป็นพยานจะต้องไม่เป็นผู้เยาว์หรือผู้หย่อนความสามารถ และต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกนั้นด้วย
  4. ผู้ทำพินัยกรรมต้องมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
  5. พินัยกรรมควรจะตั้งผู้จัดการมรดกโดยสามารถระบุผู้ทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกที่เจ้ามรดกไว้ใจลงในพินัยกรรมไปได้เลย
  6. สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ ก็สามารถกำหนดในพินัยกรรมได้
  7. ทรัพย์สินที่ระบุในพินัยกรรมต้องเป็นทรัพย์สินหรือสิทธิของผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้น ทั้งต้องแยกสินส่วนตัวออกจากสินสมรสด้วย
  8. เงินประกันชีวิต เงินบำเหน็จตกทอด เงินมีบำนาญตกทอด เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ตกทอด ไม่อาจเป็นมรดกที่ระบุลงในพินัยกรรมได้ เพราะไม่ใช่ทรัพย์ที่เจ้ามรดกมีอยู่ก่อนตาย

ทั้งนี้ การเขียนพินัยกรรมด้วยตัวเองสามารถทำไว้ได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ตราบเท่าที่เจ้ามรดกต้องการ แต่หากพินัยกรรมฉบับดังกล่าวเป็นโมฆะ ไม่ว่าจะด้วยข้อผิดพลาดในการทำพินัยกรรม หรือไม่ปรากฏว่าทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์สินของเจ้ามรดกจะตกยังทายาททั้ง 6 ลำดับ ได้แก่

1.) ผู้สืบสันดาน (ลูก หลาน เหลน โหลน)
2.) บิดา มารดา
3.) พี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกัน (พี่น้องพ่อแม่เดียวกัน)
4.) พี่น้องร่วมบิดา หรือมารดาเดียวกัน (พี่น้องคนละพ่อหรือคนละแม่คน)
5.) ปู่ ย่า ตา ยาย
6.) ลุง ป้า น้า อา รวมถึงในกรณีที่ไม่มีผู้สืบสันดาน ทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของแผ่นดิน

Tags:

Comments are closed