#อัพเดทความรู้ใหม่ #ถามตอบเรื่องเทคฮอร์โมน 10 ข้อ โดย #คุณหมอสิระ รพ.รามาธิบดี
(คำตอบจากคุณหมอโดยตรง วันที่ 27/02/2020)

บางข้อแอดยังไม่รู้เลยครับ 🤣 ถือว่าอัพเดทใหม่

ต้องบอกก่อนว่า #การเทคฮอร์โมนเพื่อข้ามเพศ ของทรานส์แมน ปี 2020 #ยังไม่มีผลการวิจัย หรือ Practical ใด ๆ ที่ชัดเจนว่าจะต้องเทคแบบนี้นะ หรือเทคแล้วจะเกิดโรคนี้แน่นอน! จะต้องเทคไปจนถึงอายุเท่าไหร่? ระยะยาวมีผลยังไงกับสุขภาพ? #ยังคลุมเครือ #ยังไม่มีใครรู้

#คลุมเครือมากแค่ไหน สังเกตได้จากการที่แต่ละ รพ. ยังให้ข้อมูลไม่ตรงกันบ้าง เดี๋ยวให้ไปบริจาคเลือด เอ้าเดี๋ยวห้ามบริจาค แนะนำให้ตัดรังไข่ดีกว่า อีกที่บอกอย่าตัดเลย (แต่คำตอบส่วนใหญ่มาในทิศทางเดียวกันครับ) และสิ่งที่แอดกำลังจะเล่านี้ เป็นคำตอบของ #คุณหมอสิระ รพ.รามาธิบดี

#คุณหมอสิระ เป็นอาจารย์หมอ อายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อ อยู่ที่ รพ.รามาธิบดี เพิ่งกลับมาจากอเมริกา (Transgender Center ที่ Boston University) เชี่ยวชาญการใช้ฮอร์โมนบำบัดทั้งชายข้ามเพศ และหญิงข้ามเพศครับ

#ไปถามอะไรคุณหมอสิระมาบ้าง คุณหมอตอบมาว่าไง ไหนเม้ามา!

1. #การตัดรังไข่ไม่ได้ทำให้เราแมนมากขึ้นกว่าเดิม! ผ่าม ผ๊าม!
เพราะลำพังการรับฮอร์โมนชาย ทำให้รังไข่แทบจะไม่มีงานทำอยู่แล้ว 🤣 ดูได้จากผลเลือดของคนที่เทคฮอร์โมนชายมา แทบไม่มีค่าฮอร์โมนหญิงเลย หรือ มีน้อยมาก ๆ พอกับผู้ชายทั่วไป (ผู้ชายก็มีฮอร์โมนหญิงนะ แต่น้อยมาก) ดังนั้น จะตัดรังไข่ หรือไม่ตัด ก็แทบไม่มีผลอะไรกับฮอร์โมนชายครับ ดังนั้นในความคิดของคุณหมอสิระ “การตัดรังไข่ ไม่ได้ทำให้แมนขึ้นไปกว่าเดิมจ้าา” (แต่ถ้ารังไข่ของใครเป็นนักรบเก่า ก็อาจจะสู้ฮอร์โมนชายหลังชนฝาเลย อาจทำให้เราปวดท้องน้อยในช่วงแรกที่เทคได้)

2. #อ้าวแล้วผมจำเป็นต้องตัดรังไข่มั้ยเนี่ย?!
คำตอบเหมือนเดิมครับ “อวัยวะเรา เราต้องตัดสินใจเอง” โดยคุณหมอให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจดังนี้
2.1) ข้อดีของการ #ตัด รังไข่
* ไม่ต้องห่วงว่าจะเป็นโรค: ยิ่งถ้าใครมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเกี่ยวกับมดลูกรังไข่ เช่น มีพฤติกรรมเสี่ยง หรือพันธุกรรมที่บ้านเป็นมะเร็ง หรือโรคอื่น ๆ ถ้าได้ตัดออกมันก็หายห่วง
* ไม่ต้องตรวจภายใน: หรือไปอัลตราซาวด์ ดูแลน้องรังไข่ ว่าสบายดีมั้ย กินอะไรยัง ป่วยมั้ย ต้องตัดมั้ย (ถ้าเคราดกแต่ไปขึ้นขาหยั่ง ตรวจจิ๋ม มันก็จะเขิน ๆ ครับ)
* สำหรับใครที่มีแผนจะแปลงเพศช่วงล่าง (ต่อจู๋) ในไทย ยุคนี้ก็จำเป็นต้องตัดล่ะครับ (แต่ยุคอนาคตไม่รู้ อาจจะมีเทคนิคใหม่)

2.2) ข้อดีของการ #ไม่ตัด รังไข่ 
* สมมุติถ้าวันหนึ่งเราเป็น “โรคอะไรบางอย่าง” ที่แพทย์วินิจฉัยว่า “ห้ามรับฮอร์โมนสังเคราะห์อีก! ไม่งั้นตายเร็ว” (มีนะครับ) เราก็จะยังมีรังไข่แท้ ๆ ของเราที่คอยผลิตฮอร์โมนหญิง ให้เรากลับมาเป็นผู้หญิงได้อีกครั้ง (รังไข่มันฟื้นตัวได้ แต่ต้องให้เวลาเค้าหน่อย จำศีลมานาน) ไม่งั้น ถ้าร่างกายเราไม่มีทั้งฮอร์โมนชาย หรือหญิงเลยยย เราก็จะเข้าสู่วัยทองครับ (ฮอร์โมนหมด)
* ไม่เจ็บตัว ไม่เสียเงิน อันนี้ก็ตีเป็นข้อดีได้

3. #ถ้าเหลือรังไข่ไว้_สามารถช่วยเรื่องมวลกระดูกและผิวพรรณเปล่งปลั่งมั้ย?
คุณหมอคิดว่า ‘ไม่ช่วย’ ครับ อย่างที่บอกว่ารังไข่มันถูกพักงานไปแล้ว ฮอร์โมนหญิงแทบไม่ผลิต แล้วจะเอาฮอร์โมนหญิงมาช่วยเรื่องกระดูกและผิวพรรณยังไง แต่ที่แน่ ๆ #การรับฮอร์โมนชายจะช่วยเรื่องกระดูกอยู่แล้ว เหมือนกับผู้ชายทั่วไปเลย (ดูสิ ผู้ชายก็ไม่มีรังไข่ กระดูกเค้ายังแข็งแรงได้เลย) ดังนั้น การตัดรังไข่ แต่เทคฮอร์โมนชาย ก็ไม่ได้ทำให้มวลกระดูกหายไปมากกว่าคนปกติ! ไม่ใช่แค่ทรานส์แมนที่ตัดรังไข่เท่านั้นที่ควรกินแคลเซียม แต่ ‘ทุกคน’ ควรกินแคลเซียมครับ เพื่อมวลกระดูกของเราในอนาคต (คุณหมอบอกว่า ผมเองก็ยังต้องกินเลย)

4. #ข้อเสียของการเทคฮอร์โมน (เฉพาะที่เกี่ยวกับเลือด)
จากที่คุณหมอเก็บสถิติมา การเทคฮอร์โมนชายทำให้ระดับไขมันในเลือดสูงขึ้น และทำให้เลือดข้นขึ้น
ใคร LDL สูง ก็ต้องรักษาควบคู่กันไปกับการเทคฮอร์โมนครับ ส่วนใครเลือดข้นนี้ คุณหมอบอกว่า แก้ได้โดยการลดโดสฮอร์โมน หรือการถ่ายเลือดออก ส่วนการกินน้ำเยอะ ๆ แทบไม่ช่วยเรื่องเลือดข้น แต่การกินน้ำสะอาดในปริมาณที่เหมาะสมถือว่า ดีต่อสุขภาพ และยัง ‘ไม่พบงานวิจัย’ ที่บอกว่า การเทคฮอร์โมนของ ‘ชายข้ามเพศ’ มีผลกระทบกับหลอดเลือดในสมอง หรือหัวใจ

5. #แต่เริ่มพบผลกระทบในกลุ่มหญิงข้ามเพศบ้างแล้ว
ตรงนี้ยังไม่อยากเล่าอะไรมากครับ เดี๋ยวจะตื่นตระหนกกัน แอดได้รับข้อมูลจากคุณหมอสิระมานิดหน่อย ขอเวลาศึกษางานตีพิมพ์เพิ่มก่อนครับ

6. #ควรหยุดรับฮอร์โมนตอนอายุเท่าไหร่?
คุณหมอก็เล่าเช่นกันว่า ยังไม่มีงานวิจัยชัดเจนว่า ต้องหยุดรับตอนอายุเท่าไหร่ แต่ที่แน่ ๆ อ้างอิงจาก ผู้ชายหรือผู้หญิงแท้ ๆ ในวัย 60 – 70 ปี ที่รับฮอร์โมนบำบัด ก็ต้องมีการลดโดสลง หรือใช้ตัวยาที่ไม่ดีดปรื๊ดปร๊าด อาจเปลี่ยนให้ใช้ฮอร์โมนแบบเจล (ทา) ไม่อย่างนั้นจะมีผลกระทบกับสุขภาพได้ง่าย (เช่น หัวใจ) จึงเอามาปรับใช้กับกลุ่มคนข้ามเพศเช่นกัน เมื่ออายุมากขึ้น (หรืออายุน้อย แต่มีโรคประจำตัว) ก็ต้องปรับเป็นฮอร์โมนแบบเจล เพราะการรับฮอร์โมนจะเสี่ยงมากขึ้น จึงต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด จนถึงวันหนึ่งถ้าคุณหมอพบว่า การรับฮอร์โมนมีผลกระทบไม่ดีต่อสุขภาพแล้ว หรือทำให้ตายไวขึ้น ก็ควรหยุดครับ

7. เมื่อกี้พูดถึง #ฮอร์โมนแบบเจล คืออะไร?
คือ ฮอร์โมนแบบทา ราคาแพงกว่าแบบฉีด มีลักษณะเป็นเจล ทาทุกวันที่ต้นแขนหรือหน้าท้อง ข้อดี คือ ระดับฮอร์โมนจะเสถียรมาก และขึ้นช้า แต่จะอยู่นาน เป็นผลดีกับคนที่มีความเสี่ยง หรือมีโรคประจำตัวที่อาจจะอันตราย ถ้าระดับฮอร์โมนเหวี่ยงแรงจนมีผลต่อค่าเลือด ส่วนโดสที่ใช้กับฮอร์โมนแบบทานั้น เอาไปเปรียบเทียบกับแบบฉีดไม่ได้นะครับ มันไม่เหมือนกัน คุณหมอจะเป็นคนคำนวณโดสให้ใหม่

8. #ฮอร์โมนแบบกินใช้ข้ามเพศได้มั้ย?
ไม่ควรกินฮอร์โมนเพื่อข้ามเพศ เพราะกว่ามันจะเปลี่ยน ต้องกินเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะมีผลต่อ ‘ค่าตับ’ และ ‘ค่าใช้จ่าย’ ก็จะแพงมาก ดังนั้น ทุกวันนี้ คุณหมอจึงใช้ฮอร์โมนแบบฉีด และแบบทา สำหรับชายข้ามเพศครับ

9. #ถ้าเราอยากเปลี่ยนตัวยาจะมีผลกระทบมั้ย
มีครับ เพราะช่วงที่โดสยาเปลี่ยน หรือเปลี่ยนไปใช้ยาที่มีระยะเวลาออกฤทธิ์ต่างกัน มันก็จะเกิดเอฟเฟ็กต์กับร่างกายเรา จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของคุณหมอ (ขวดยาติดฉลากอยู่ว่า ‘ยาอันตราย’ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ไม่ได้เขียนว่า ยาอันตราย แต่ถามคนอื่นได้ว่าใช้ยังไงครับ)

10. คำถามสุดท้าย #เมื่อไหร่เรื่องนี้จะหายคลุมเครือครับ?
อีกนานนนน จนกว่าจะมีผลการวิจัยตีพิมพ์ออกมาชัดเจน ผลก็เอามาจากพวกเรานี่แหละ พวกเรา คือ #หนูทดลอง ตัวเล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่บนโลกอันกว้างใหญ่ที่เต็มไปด้วยฝุ่น และเชื้อไวรัส เราอาจจะกำลังอยู่ในงานวิจัยของแพทย์ท่านใดท่านหนึ่งก็เป็นได้ (จนกว่าแก๊งหนูตะเภาอย่างเรา ๆ จะแก่ หรือตายนู้นแหละครับ)

Credit: นำภาพ และประวัติของคุณหมอ มาจากเพจ GenV Clinic คลินิกเพศหลากหลาย รพ.รามาธิบดี
================================
🏳️‍🌈 FTM THAILAND สังคมของผู้ชายข้ามเพศ
================================
www.ftm-thailand.com เว็บไซต์ที่รวมทุกรีวิว
ขั้นตอน ค่าใช้จ่ายของการข้ามเพศหญิงเป็นชาย

หากต้องการปรึกษาการข้ามเพศ เรามีทีมแอดมิน
และผู้มีประสบการณ์ตรง คอยตอบอยู่ในไลน์นี้ครับ
https://line.me/ti/g2/xr4EvNQBir0PqgjLjXaTbQ?utm_source=invitation&utm_medium=link_copy&utm_campaign=default

Tags:

Comments are closed