ผลกระทบจากการตัดมดลูก และรังไข่

1. ภาวะแทรกซ้อนระหว่างผ่าตัด
– การตกเลือด มักเกิดจากความล้มเหลวในการผูกเชือกยึดเส้นเลือดบริเวณปากมดลูก หรือการได้รับการบาดเจ็บของกระเพาะปัสสาวะหรือเส้นเลือดที่มาเลี้ยงบริเวณ เนื้องอกทำให้เลือดไหลค้างภายในมดลูก
– อันตรายต่อระบบทางเดินปัสสาวะ อันเกิดจากการเย็บ การผูก การตัดของระบบทางเดินปัสสาวะโดยบังเอิญ
– ภาวะแทรกซ้อนในระบบประสาท เช่น การบาดเจ็บของเส้นประสาทที่ขา เนื่องจาการกดทับเป็นเวลานานในระหว่างการผ่าตัด

2. ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด
2.1 ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดระยะแรก
– ภาวะตกเลือด เป็นการตกเลือดใน 24 ชั่วโมง หลังการผ่าตัด ส่วนใหญ่เกิดจากการตัดหรือการฉีกขาดของเส้นเลือดแดง และเส้นเลือดดำบริเวณมดลูก เส้นเลือดบริเวณรังไข่ เส้นเลือดในช่องคลอด เส้นเลือดในกระเพาะปัสสาวะ หรือเส้นเลือดบริเวณช่องเชิงกรานที่ถูกตัดออกพร้อมมดลูก
– ภาวะติดเชื้อ เป็นการติดเชื้อของการผ่าตัดหน้าท้อง พบประมาณร้อยละ 4-6 ของการผ่าตัดมดลูก และรังไข่ ที่เกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อขณะผ่าตัด มักพบเกิดหลังการผ่าตัด 3-5 วัน และเกิดภาวะแผลแยก 4-8 วัน หลังการผ่าตัด
– ภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ กระเพาะอาหารหรือลำไส้ทะลุ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ มีอากาศในช่องท้อง การขยายตัวของกระเพาะอาหาร และการอุดตันของลำไส้
– ภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ มีปัสสาวะค้างอันเกิดจากผู้ป่วยไม่ถ่ายปัสสาวะหลังการเอาสวนสายปัสสาวะออกใน ระยะเวลา 24 ชั่วโมง ทำให้ท่อปัสสาวะมีการหดเกร็ง ทำให้ไม่สามารถถ่ายปัสสาวะได้

2.2 ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดระยะหลัง เป็นภาวะที่เกิดอาการแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดเกิน 24 ชั่วโมง ได้แก่ การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ไม่ขับถ่ายปัสสาวะ ปัสสาวะค้าง มีอาการท้องผูก อ่อนเพลีย อาการปวดเรื้อรังในช่องเชิงกราน แผลทะลุระหว่างช่องคลอดกับกระเพาะปัสสาวะ ท่อนำไข่หย่อน และอันตรายจากท่อปัสสาวะถูกตัด เป็นต้น

นอกจากนี้ การตัดมดลูกร่วมกับการตัดรังไข่ออกทั้งสองข้างยังทำให้สตรีเข้าสู่วัยหมด ประจำเดือนก่อนกำหนด ทำให้เกิดอาการรุนแรงมากกว่าสตรีที่หมดประจำเดือนตามธรรมชาติเนื่องจากขาด ฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างทันที ผลกระทบที่ตามมา ได้แก่

1. ผลกระทบในระยะสั้น
การตัดรังไข่ออกทั้งสองข้างทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างกะทันหัน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอาการร้อนวูบวาบในสตรีเกิดผื่นแดงบริเวณหนังศรีษะ คอ หน้าอก และอาจมีเหงื่อออกร่วมด้วย มีอาการเกิดเป็นครั้งคราว ทุกๆ 1-2 ชั่วโมง ถึง 1-2 สัปดาห์ แต่บางรายที่รุนแรงอาจเกิดถี่ทุกๆ 10-30 นาที โดยอาการทั่วไปจะเกิดนาน 2-3 นาที แต่บางรายอาจเกิดได้นานกว่า 10 นาที ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดในระยะต่อเนื่องนาน 1-2 ปี หรืออาจมากถึง 5 ปี และมักเกิดบ่อยในตอนกลางคืนทำให้นอนไม่หลับเกิดความเครียด ปวดศรีษะ มีอารมณ์หงุดหงิด รวมไปถึงเกิดภาวะซึมเศร้า และร่างกายเหนื่อยอ่อน

2. ผลกระทบในระยะยาว
– ระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก ทำให้มีขนาดเล็กลง และแบนราบ ผิวหนังบริเวณหัวเหน่าเหี่ยวแฟบ ขนบริเวณหัวเหน่าวน้อยลง คลิตอลิสหดเล็ก แคมเล็กแคมใหญ่เหี่ยวเล็ก ช่องคลอดตีบแคบ และสั้น ผนังช่องคลอดหย่อน เยื่อบุผนังช่องคลอดบางลง มีเลือดมาเลี้ยงน้อย เกิดอาการคัน และอักเสบได้ง่าย มีอาการเจ็บขณะร่วมเพศ รวมไปถึงการเปลี่ยนโครงรูปร่างเล็กลง เต้านมเล็กลง
– ผิวหนัง และขน การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ช่วยในการกักเก็บน้ำ และแร่ธาตุในเซลล์จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เป็นส่วนหนึ่งของการเสื่อมของผิว หนัง ผิวหนังเหี่ยวแห้ง ขาดความยืดหยุ่น มีรอยย่น มีเลือดมาเลี้ยงน้อย และเกิดอาการขนร่วงตามมา
– ระบบทางเดินปัสสาวะ หลังจาการตัดรังไข่จะทำให้อวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะหดเล็กลง เกิดอาการติดเชื้อ และอักเสบได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณกระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะเสื่อม ทำให้ควบคุมการหลั่งปัสสาวะได้ยาก กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
– ระบบหัวใจ และหลอดเลือด สืบเนื่องมาจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนส่งผลต่อการสร้าง และเผาผลาญไขมันทำให้ระดับไขมันอิ่มตัวสูงในร่างกายลดลง และไขมันที่อิ่มตัวต่ำในร่างกายสูงขึ้น ระดับคอเลสเตอรอล ไลโปโปรตีน และไตรกลีเซอไรด์ ในร่างกายสูงขึ้น เกิดภาวะน้ำหนักเพิ่ม เกิดโรคอ้วน และส่งผลเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคไขมันในเส้นเลือด
– การเปลี่ยนแปลงกระดูก จากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีส่วนสำคัญในการดูดซึมแคลเซียมให้แก่ร่างกาย โดยการเพิ่มการเผาผลาญวิตามินดี ส่งเสริมการสร้างแคลซิโตนินที่ช่วยยับยั้งการสลายของเนื้อกระดูก และออกฤทธิ์โดยตรงต่อออสตีโอบลาสต์ที่กระตุ้นการสร้างเนื้อกระดูกโดยตรง ดังนั้น เมื่อขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนแล้วจะทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลง และมีอัตราการสลายของมวลกระดูกเพิ่มมากกว่าปกติ ส่งผลต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนตามมา

Cr. FTM ห้องสมุด (ขอบคุณน้องกันต์)

Tags:

Comments are closed