ขอบคุณข้อมูลจากกันต์ FTM ห้องสมุด

พระภิกษุ ถูกต้องกาย “ชายข้ามเพศ” ได้หรือไม่?
ทความโดย : หลวงพี่ชาย วรธัมโม
พระนักกิจกรรมเพื่อสิทธิและความหลากหลายทางเพศ


เราทราบกันดีว่า “ชายข้ามเพศ” ก็คือหญิงที่แปลงเพศเป็นชาย ในเมื่อ “ชายข้ามเพศ” เป็นหญิงที่แปลงเพศเป็นชาย แล้วภิกษุถูกตัว “ชายข้ามเพศ” ได้หรือไม่ ?

ก่อนจะตอบว่าพระสงฆ์ถูกตัว “ชายข้ามเพศ” ได้หรือไม่ เราน่าจะย้อนกลับไปดู “สิกขาบท” ที่ทำให้พระสงฆ์เถรวาทไทยถูกต้องกายหญิงไม่ได้เสียก่อน

มูลเหตุที่ทำให้พระสงฆ์ไทยถูกต้องกายหญิงไม่ได้ มาจากสิกขาบทที่ 2 มีมาในอาบัติหมวด “สังฆาทิเสส” ดังมีใจความว่า “ภิกษุมีความกำหนัดจับต้องกายหญิงต้องอาบัติสังฆาทิเสส”
หมายความว่า หากภิกษุมีความรู้สึกพึงพอใจ หรือมีอารมณ์ทางเพศกับสุภาพสตรีแล้วเอามือไปสัมผัสถูกกายสุภาพสตรี หรือภิกษุเอาร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งของภิกษุไปสัมผัสเข้ากับกายของสตรี ภิกษุนั้นต้องอาบัติ “สังฆาทิเสส”

“อาบัติ” คือการปรับความผิดกับพระสงฆ์มิได้ปรับความผิดแก่ฆราวาส

การที่สิกขาบทข้อนี้ระบุเช่นนั้นจึงกลายเป็นธรรมเนียมให้พระภิกษุสายเถรวาทในเมืองไทยถูกต้องกายหญิงไม่ได้ แม้แต่เด็กผู้หญิงหรือเด็กทารกเพศหญิงก็ห้ามแตะต้อง ในขณะที่พระภิกษุเถรวาทในประเทศอื่น ๆ ก็มิได้ปฏิบัติเคร่งครัดขนาดนั้นเพราะพระภิกษุเถรวาทในประเทศอื่น ๆ เช่นที่ศรีลังกาหรือที่พม่าก็จับต้องเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ได้เพราะเขาถือว่าเป็นการถูกต้องกายโดยมิได้มีความใคร่ทางกามารมณ์ หรือในกรุงย่างกุ้งพระภิกษุพม่าก็สามารถขึ้นรถเมล์เบียดเสียดกับญาติโยมชายหญิงได้เป็นเรื่องปกติเพราะธรรมเนียมที่นั่นถือว่าสถานการณ์เช่นนั้นเป็นการถูกต้องกายโดยมิได้มีกามารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง

ถ้าใครเคยไปพม่าแล้วเห็นพระสงฆ์พม่าขึ้นรถเมล์เบียดเสียดญาติโยมชายหญิงบนรถเมล์ก็อย่างเพิ่งตกใจ เราควรทำความเข้าใจว่าพระสงฆ์พม่าก็ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยเดียวกันกับเราเพียงแต่เขาถือว่าในสถานการณ์เช่นนั้นการถูกต้องกายหญิงมิได้เป็นไปด้วยความกำหนัดจึงมิต้องมากังวลเรื่องอาบัติหรือไม่อาบัติซึ่งสังคมพม่าก็ยอมรับวิถีการปฏิบัติเช่นนี้มายาวนานแล้ว

ทั้งนี้เช่นเดียวกับพระภิกษุสายมหายานในประเทศต่าง ๆ เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลี หรือภิกษุสายวัชรยานในภูฏาน ลาดัก ทิเบต ต่างก็ถือสิกขาบทข้อเดียวกันกับภิกษุสายเถรวาท เพียงแต่ของเขาตีความสิกขาบทว่าการถูกต้องกายหญิงแต่ละครั้งมิได้เป็นไปด้วยกามารมณ์ ดังนั้นจึงมิได้เป็นเรื่องใหญ่หากภิกษุจะถูกต้องกายหญิงเพราะนั่นมิได้เป็นการถูกต้องด้วยอารมณ์ทางเพศ

เมื่อพิจารณาดูจากสิกขาบทข้อนี้ก็จะพบว่าสิกขาบทกล่าวไว้อย่างมีเงื่อนไขว่า “ภิกษุมีความกำหนัด” หากภิกษุมิได้มีความกำหนัดก็สามารถถูกต้องกายหญิงได้โดยไม่เป็นอาบัติ แต่ธรรมเนียมพุทธศาสนาในบ้านเราเน้นที่ภาพลักษณ์ต้องมาก่อน พระสงฆ์ต้องดูเรียบร้อยไว้ก่อน ดังนั้นไม่ว่าพระภิกษุจะมีความกำหนัดหรือไม่ชาวพุทธก็ไม่ค่อยยินดีนักหากเห็นภาพพระภิกษุถูกต้องกายสตรี ยกเว้นการรักษาพยาบาลโดยแพทย์หญิงหรือนางพยาบาลสามารถจับต้องกายพระภิกษุได้ หาไม่แล้วแพทย์ก็คงไม่สามารถกระทำการรักษาพยาบาลพระภิกษุได้ ไม่เช่นนั้นพระภิกษุอาจมรณภาพไปในที่สุดเพราะเราเคร่งครัดในพระธรรมวินัยมากจนเกินพอดี

หรือกรณีที่มารดาป่วยพระภิกษุย่อมสามารถกระทำการรักษาพยาบาลผู้เป็นมารดาได้ในกรณีที่ไม่มีใครดูแลมารดาของท่าน ถึงแม้พระวินัยจะระบุว่าพระภิกษุห้ามถูกต้องกายหญิงแต่ในทางปฏิบัติหากมารดาป่วยจนไม่มีใครดูแลพระภิกษุย่อมดูแลรักษามารดาของท่านได้ เพราะคงไม่มีพระภิกษุรูปใดถูกต้องกายมารดาของท่านด้วยความกำหนัดเป็นแน่ การดูแลรักษาผู้บังเกิดเกล้าเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญแม้ว่าบุตรจะดำรงอยู่ในสถานะใดก็สามารถดูแลรักษามารดาของท่านได้

คราวนี้มาถึงคำถามว่าตกลงพระภิกษุถูกต้องกาย “ทรานส์แมน” หรือ “ชายข้ามเพศ” ได้หรือไม่
“ชายข้ามเพศ” ก็คือผู้หญิงที่แปลงเพศเป็นชาย มีรูปกายเป็นชายไปแล้ว ผู้เขียนขออนุญาตตอบตามพระธรรมวินัยว่า “ถ้าภิกษุมิได้มีความกำหนัดหรือมิได้มีความใคร่กับ “ชายข้ามเพศ” ภิกษุก็สามารถถูกต้องกาย “ชายข้ามเพศ” ได้” อันนี้ตีความตามตัวอักษรกันเลย

เพราะ “ชายข้ามเพศ” เมื่อดูจากรูปลักษณ์ภายนอกแล้วเขาก็คือผู้ชายคนหนึ่ง ถ้าภิกษุแสร้งทำเป็นรังเกียจไม่อยากเข้าใกล้ชายข้ามเพศเพียงเพราะเหตุว่าภิกษุอาจจะทราบมาก่อนว่าชายคนนี้ในอดีตเคยเป็นสตรีมาก่อนก็ดูจะเป็นการเหยียดเพศกันจนเกินไป เพราะเวลานี้หน้าตาและรูปลักษณ์ของเขาได้เปลี่ยนเป็นผู้ชายไปแล้ว บางคนก็มีหนวดเคราด้วยซ้ำ การให้เหตุผลดังกล่าวจึงดูเป็นการรังเกียจกันจนเกินเหตุ แต่ถ้าภิกษุไม่รู้มาก่อนว่าชายคนนี้เป็น “ชายข้ามเพศ” และภิกษุปฏิบัติกับเขาเป็นปกติเฉกเช่นชายคนอื่น ๆ ก็ไม่ถือว่าเป็นอาบัติอะไร เพราะอาบัติจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ “ภิกษุมีจิตกำหนัด” เท่านั้น

แต่เท่าที่ผู้เขียนได้ยินได้ฟังมาปัญหามักจะเกิดกับ “ชายข้ามเพศ” เสียเอง นั่นคือ บางครั้งพระภิกษุมาถูกตัวโดยไม่รู้ว่าตนเองเป็น “ชายข้ามเพศ” หรือบางครั้งขึ้นรถเมล์แล้วพระภิกษุมานั่งข้าง ๆ ทำให้ “ชายข้ามเพศ” บางคนรู้สึกผิดเพราะเกรงว่าพระภิกษุมาถูกตัวตนเองเข้าแล้วตนเองจะเป็นบาปตกนรกเพราะทำให้พระต้องอาบัติ

ข้อนี้อธิบายว่า สิกขาบทข้อนี้เขาปรับอาบัติต่อเมื่อ “พระมีความพึงพอใจทางกามารมณ์กับบุคคลที่ท่านถูกตัวด้วย” เท่านั้น ฉะนั้นเมื่อขณะพระภิกษุถูกต้องตัวเราท่านมิได้มีกำหนัดพระท่านก็ไม่ต้องอาบัติ และการที่พระภิกษุจะต้องอาบัติหรือไม่ก็มิได้อยู่ที่ “ชายข้ามเพศ” แต่อยู่ที่ “จิต” ของพระภิกษุเองต่างหาก ดังนั้น คนที่เป็น “ทรานส์แมน” ควรสบายใจได้ว่าคุณมิได้ทำให้พระต้องอาบัติเพียงเพราะพระภิกษุมาถูกตัวคุณ เพราะอาบัติปรับความผิดกับพระผู้มีกำหนัด และอาบัติก็มิได้ปรับที่ฆราวาสแต่อาบัติปรับที่พระ นี่จึงเป็นเรื่องของพระภิกษุเองที่ต้องระมัดระวังใจของท่านเอง ไม่ได้เกี่ยวกับฆราวาส

Tags:

Comments are closed